===Not Click=== ===Not Click===

พระสมเด็จ วัดระฆังรุ่น 100 ปี พ.ศ.2515

ในแวดวงนักสะสมพระเครื่อง ทุกคนย่อมให้ความสนใจ พระสมเด็จ ที่เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้นในสมัยท่านพำนักอยู่ ณ วัดระฆังที่เรียกว่า พระสมเด็จ วัดระฆัง และรุ่นที่ท่านสร้างขึ้นแล้วนำไปบรรจุในองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระมหาพุทธพิมพ์) วัดไชโยวรวิหาร ที่เรียกว่า พระสมเด็จเกศไชโยรวมทั้งรุ่นที่ท่านปลุกเสกแล้วบรรจุกรุในองค์เจดีย์ วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม ที่เรียกว่า พระสมเด็จ กรุบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส)


ปัจจุบัน พระสมเด็จ ทั้ง 3 วัดดังกล่าว มีสนนราคาสูงถึงหลักแสนหลักล้านขึ้นไป ไกลเกินเอื้อมสำหรับผู้ที่มีปัจจัยไม่มากนักที่จะเช่าหามาบูชาได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือ การหาเช่าบูชาพระสมเด็จที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ไม่ว่าจะเป็นพระสมเด็จที่สร้างขึ้นภายหลังของ วัดระฆัง, วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) และ วัดไชโยวรวิหาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสมเด็จ 100 ปี วัดระฆัง พ.ศ.2515 ที่สร้างขึ้นในโอกาสครบ 100 ปีแห่งวันมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จฯ (ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2515) โดย ม.ล.เนื่องพร สุทัศน์ ผู้ริเริ่มโครงการ ได้ขอรับความเห็นชอบจาก พระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาสวัดระฆัง จึงได้เกิดโครงการขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “โครงการสร้างปูชนียวัตถุ เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบ 100 ปี แห่งมรณภาพของเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ณ วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี”

วัตถุมงคลที่จัดสร้าง คือ

1.พระพุทธรูป (จำลองพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆัง)
2.พระกริ่ง (จำลองพระประธานฯ)
3.รูปเหมือนบูชาสมเด็จฯโต
4.รูปเหมือนลอยองค์สมเด็จฯโต
5.เหรียญสมเด็จฯโต
6.พระเครื่องเนื้อผง พิมพ์สมเด็จ และพิมพ์รูปเหมือน

วัตถุมงคลทั้งหมดนี้ ได้จัดประกอบพิธีพุทธาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่และถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ถึง 3 วาระด้วยกัน คือ วาระที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2514, วาระที่ 2 วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2514 และ วาระที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2515นับได้ว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่พิธีหนึ่งในสมัยนั้น

ปัจจุบัน พระสมเด็จ อนุสรณ์ 100 ปี วัดระฆัง ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากนักสะสมพระเครื่อง คนรุ่นใหม่ อย่างกว้างขวาง จนถึงกับมีการบรรจุรายการไว้ในงานประกวดพระเครื่องมาตรฐานหลายครั้ง ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับ พระสมเด็จ รุ่นนี้จากหลายสำนักพิมพ์ ที่ได้รับความนิยมเชื่อถือมาก คือ หนังสือ พระวัดระฆังฯ ๑๐๐ ปี จัดทำโดย อิศรา เตชะสา (ป.สตูดิโอ)

ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ว่า...“ผู้เขียนมั่นใจว่า พระชุดอนุสรณ์ฯ 100 ปี จะสามารถชดเชย พระสมเด็จ วัดระฆังฯ ชุดแรกที่ สมเด็จฯ (โต) ท่านได้สร้างไว้อย่างแน่นอน เพราะพระรุ่นอนุสรณ์ 100 ปี เป็นพระที่ศึกษาได้ไม่ยาก และมีความชัดเจนทั้งประวัติความเป็นมา วัตถุประสงค์การสร้าง พิธีกรรมหลวงที่ยิ่งใหญ่ มวลสารที่เข้มขลัง และความชัดเจนในจำนวนวัตถุมงคล ส่วนเรื่องพุทธคุณจากพระรุ่นนี้ มีการเล่าสู่กันฟังอย่างต่อเนื่องว่า โดดเด่นเรื่องเมตตา ค้าขาย และ แคล้วคลาดเป็นที่สุด”

พระสมเด็จ รุ่น 100 ปี วัดระฆัง ที่วงการนักสะสมพระสายนี้ ได้แบ่งความนิยมไว้ดังนี้

1. พิมพ์เศียรโต A บล็อกแรก แบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบเต็มพิมพ์(มีเส้นผ้าทิพย์) และแบบไม่เต็มพิมพ์ (ไม่มีเส้นผ้าทิพย์) แบบเต็มพิมพ์จะมีความงดงามมากพบเห็นได้น้อย และเป็นที่นิยมสูงสุดของพระรุ่นนี้ สนนราคากลางประมาณ หลักแสนต้น-กลาง ส่วนแบบไม่เต็มพิมพ์ สนนราคากลางประมาณหลักหมื่นกลาง-หลักหมื่นปลาย




2.พิมพ์เศียรโต B เป็นพิมพ์นิยมในกลุ่มพิมพ์เศียรโต ที่มีการบรรจงกดพิมพ์อย่างสวยงาม รอยปาดเนื้อด้านหลัง และขอบข้างขัดแต่งเรียบแน่น ปัจจุบันเป็นหนึ่งในพิมพ์ที่นิยมพบเห็นได้น้อย สนนราคากลางประมาณหลักหมื่นต้น-หลักหมื่นกลาง




3.พิมพ์เส้นด้าย แบ่งเป็น 3 พิมพ์คร่าวๆ ตามระดับความลึกของแม่พิมพ์ คือ เส้นด้ายลึก, เส้นด้ายใหญ่ และเส้นด้ายเล็ก พระทั้ง 3 พิมพ์นี้ เป็นพิมพ์ที่ปรับแต่งจาก พิมพ์เศียรโตAมีจุดตำหนิสำคัญจุดเดียวกัน แตกต่างกันที่รายละเอียดของพิมพ์ที่มีมากน้อยไม่เท่ากัน พิมพ์เส้นด้ายนี้เป็นพิมพ์นิยมหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง เป็นที่คุ้นตาของผู้นิยมเป็นอย่างดี สนนราคาประมาณหลักหมื่นต้น




4.พิมพ์ไข่ปลาเลือน พระพิมพ์นี้จะอวบล่ำ ขอบข้างหนาพิเศษกว่าพิมพ์อื่นๆ แบ่งเป็น 3 พิมพ์คร่าวๆ คือแม่พิมพ์ที่ 1,2 และ 3โดยรวมแล้วจะคล้ายกัน แตกต่างกันที่บางจุดตำหนิเท่านั้น สนนราคาประมาณหลักหมื่นต้น




5.พิมพ์ซุ้มซ้อน เป็นพิมพ์ที่พบเห็นน้อยที่สุด ของพระสมเด็จรุ่นนี้ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ตลอดแนวเส้นซุ้มครอบแก้ว มีลักษณะเป็นเส้นซ้อนกันสนนราคาประมาณหลักหมื่นต้น




6.พิมพ์ต้อใหญ่ เป็นพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายกับ พิมพ์เศียรโต บล็อกBน่าจะปรับพิมพ์มาจากต้นแบบเดียวกัน แตกต่างกันที่ตำหนิสำคัญบางจุด เนื้อออกเหลืองกว่าทุกพิมพ์ในกลุ่มพิมพ์นิยมทั้งหมด สนนราคาประมาณหลักหมื่นต้น




ขอขอบพระคุณ
ข้อมูลและภาพจาก คุณอิศรา เตชะสา (ป.สตูดิโอ)
สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย