เหรียญเสมาหลวงพ่อทวด รุ่นสาม พิมพ์สองจุดประคดข้างเดียว ปี 2504
เหรียญหลวงพ่อทวดเสมารุ่น 3 ที่จัดสร้างในปี พ.ศ.2504 นี่เองที่มีจำนวนการสร้างเยอะมาก มีปริมาณเพียงพอที่จะหมุนเวียนในตลาด ทำให้การเช่าหาเปลี่ยนมือคึกคักมาตลอด อีกทั้งจำนวนแม่พิมพ์ของรุ่นสามนี้มีจำนวนมาก การสร้างในแต่ละแม่พิมพ์ มีความเชื่อมโยงกันเพราะถ้าแม่พิมพ์ตัวด้านหน้าและด้านหลังเสียก็มีการแกะใหม่เสริมเข้ามาทำให้เกิดพิมพ์ใหม่ขึ้น จึงทำให้เกิดพิมพ์ย่อยแตกออกมาหลายสิบพิมพ์
จุดพิจารณาด้านหน้าของเหรียญ รุ่น 3 พิมพ์สองจุดประคดข้างเดียว ปี 2504
1.หูเหรียญฝั่งขวาองค์พระมีร่องเล็กๆ
2.ไข่ปลาฝั่งขวาองค์พระมี 6 เม็ด เม็ดล่างสุดมีตำหนิ
3.ไข่ปลาฝั่งซ้ายองค์พระมี 7 เม็ด และจะชัดกว่าฝั่งขวาองค์พระ
4.เส้นหน้าผากคมชัด
5.จมูกจะคดเอียงเล็กน้อย
6.ชายจีวรทั้ง 5 เส้นคมชัด
7.เส้นแตกเหนือหัวยันต์ ฝั่งซ้ายองค์พระไปชนเส้นซุ้ม
8.ประคดข้างเดียว (ที่มาของชื่อพิมพ์)
9.อักษรตัว “ ท “ และตัว “ ว “ อยู่ติดกัน
10.จุดบนและจุดล่างอันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์สองจุด
จุดพิจารณาด้านหลัง
1.หูเหรียญจะมีขอบปลิ้น
2.ขอบเหรียญจะมีรอยปลิ้น
3.เนื้อปลิ้นเป็นร่องที่ขอบเหรียญฝั่งขวาองค์พระ
4.เส้นเกศาคมชัด
5.ปลายยันต์จะมีติ่งแหลมจากการแกะเกิน
6.ดวงตาคมชัด
7.เส้นขอบตาคมชัด
8.ตัว “ พ “ ลักษณะบี้แบน ไม่คมชัด
9.สระอู ไม่คมชัด
10.รอยปลิ้นที่ขอบเหรียญ
ด้านข้างก็จะเห็นรอยตัดซึ่งคมชัดของตัวตัด
ที่มาของพิมพ์ 2 จุดรัดประคดข้างเดียวนั้น คือ ตรงรัดประคดที่คาดเอวหลวงพ่อทวด มีข้างเดียว คือ ข้างซ้ายขององค์พระหลวงพ่อทวด เข้าใจว่าเกิดมาจากความผิดพลาดของช่างผู้แกะแม่พิมพ์ ทำให้กลายเป็นของแปลกและนิยมขึ้นมา ส่วน 2 จุด คือจุดไข่ปลาในกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดใต้หูเหรียญด้านหน้า เหนือศีรษะหลวงพ่อทวด และที่ด้านล่างในกรอบสี่เหลี่ยมลายกนก ใต้คำว่า “ทวด”
ในการพิจารณาเหรียญปั๊มนั้นเมื่อส่องกล้องต้องสังเกตเส้นเสี้ยนที่สาดกระจายที่พื้นเหรียญ ต้องเข้าใจว่าเครื่องจักรที่ใช้ในการปั๊มในยุคก่อนนั้น มีกำลังม้าไม่เท่ากับเครื่องจักรในยุคปัจจุบัน เมื่อปั๊มเหรียญก็จะปั๊มเต็มกำลังของเครื่องตามธรรมชาติเพื่อให้ตัดเหรียญให้ขาด
และที่สำคัญต้องให้เกิดความคมชัดของตัวอักขระต่างๆ รวมถึงอักษรทั้งหน้าและหลัง รวมถึงถ่ายทอดความสวยงาม ความคมขององค์พระ ทั้งเส้นผม เม็ดตา สังฆาฏิ จีวรของหลวงพ่อทวดและพระอาจารย์ทิม ให้เสมือนจริงมากที่สุดที่ถ่ายทอดแกะลงในแม่พิมพ์ ริ้วรอยต่างๆจากแม่พิมพ์ที่แกะโดยเจตนา และไม่เจตนาก็จะปรากฏให้เห็นจากการปั๊มมาเป็นตำหนิสำคัญในการพิจารณานั่นเอง
ปัจจุบัน เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทุกรุ่นที่ทันยุคพระอาจารย์ทิม ล้วนแต่ได้รับความนิยมจากนักสะสมพระเครื่องของประเทศ เพราะประวัติการสร้างชัดเจนและคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วงการพระเครื่องสามารถสืบค้นกระบวนการสร้าง และยังมีคนที่ทันการสร้างพระเครื่องในยุคนั้น ถ่ายทอดออกมาให้รับรู้ ทำให้เป็นที่แพร่หลายอย่างมาก อีกทั้งจำนวนของพระเครื่องหลวงพ่อทวดที่ออกมาสู่วงการนักสะสม ก็มีปริมาณมากพอที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนในตลาดพระเครื่องนั่นเอง
จุดสังเกตุเพิ่มเติม
ขอบคุณที่มา : อาจารย์ชวินทร์ / โพสต์ทูเดย์, PAESKL