===Not Click=== ===Not Click===

วิธีดูเหรียญพระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา ปี 2519 (จีวรจุด) ประสบการณ์

เหรียญพระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา ปี 2519 (จีวรจุด) ประสบการณ์










โดนยิงรอดตายราวปาฏิหาริย์ห้อยเหรียญปี 2519 พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา


กระบี่ - สาดกระสุน เอ็ม 16 รัวถล่ม นายกเล็กอ่าวลึก แค่กระดูกหัวไหล่แตก เผยมีพระดีคุ้มครอง ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ รุดตรวจสอบพร้อมกำชับตำรวจคลี่คดี พ.ต.ต.กิตติธัช แดงนุ้ย สารวัตรเวรสอบสวน สภ.อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ รับแจ้งจากโรงพยาบาลอ่าวลึก ว่า มีเหตุคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วิชชาสรรค์ บุญณรงค์ รอง ผกก.สส.ทราบว่า ผู้ถูกยิงได้ถูกนำตัวส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลกระบี่ จึงตามไปตรวจสอบ ทราบชื่อ นายวิพจน์ ถิ่นพังงา อายุ 61 ปี เป็นนายกเทศมนตรีตำบลอ่าวลึกใต้ อยู่บ้านเลขที่ 90/6 ม.2 ต.อ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก โดยถูกยิงเข้าที่บริเวณไหล่ขวา 1 นัด กระดูกแตก กระสุนทะลุ และกระสุนเฉี่ยวบริเวณหน้าอก อีก 1 แผล แพทย์ให้การรักษาจนอาการพ้นขีดอันตราย สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุผู้บาดเจ็บ นายวิพจน์ ได้ขับรถกลับมาจากร่วมงานศพญาติที่อำเภอปลายพระยา โดยมีเพื่อนนั่งร่วมมาด้วย 2 คน และได้แวะส่งเพื่อนระหว่างทางภายในเขตเทศบาลตำบลอ่าวลึก หลังจากนั้น ได้ขับรถเข้าบ้านคนเดียว แต่เมื่อที่ถนนสายอ่าวลึก-แหลมสัก บริเวณหน้าโรงเรียนอ่าวลึกใต้ ภายในเขตเทศบาลตำบลอ่าวลึก ห่างจาก สภ.อ.อ่าวลึก ประมาณ 500 เมตร ก่อนถึงบ้านตัวเองประมาณ 1 กิโลเมตร ได้มีคนร้ายขับรถยนต์กระบะ ไม่ทราบสี ยี่ห้อ ตามประกบแล้วได้ขับแซงขึ้นมา ก่อนที่คนร้ายที่นั่งอยู่กระบะหลัง ได้ใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงถล่มใส่แบบไม่ยั้ง ก่อนที่จะขับหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่รู้ตัวว่าถูกยิง ก็ได้แข็งใจขับรถไปยังโรงพยาบาลอ่าวลึก ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อให้แพทย์ทำการรักษา แต่ทางโรงพยาบาลอ่าวลึก ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลกระบี่ เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการรักษาที่ครบครันกว่าจนอาการปลอดภัย


ขณะเดียวกัน นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พ.ต.อ.สติ มาลกานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ ได้เดินทางไปเยี่ยมอาการของนายวิพจน์ ที่โรงพยาบาลกระบี่ พร้อมกล่าวว่า คดีนี้จากการตรวจสอบแล้วพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 2-3 ประเด็น แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม ตนก็ได้เดินทางไป สภ.อ.อ่าวลึก เพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุ และจะได้เน้นย้ำกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งคลี่คลายคดีดังกล่าว เพราะถือเป้นคดีที่อุกอาจ คนร้ายใช้อาวุธปืนสงคราม และผู้ถูกยิงก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง จะต้องเร่งสืบสวนเพื่อคลี่คลายคดีนี้ต่อไป ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน เอ็ม 16 จำนวน 27 ปลอก ตกกระจายเกลื่อนถนน จึงได้เก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อตรวจสอบหาที่มา และได้ทำการตรวจสอบรถยนต์กระบะ โตโยต้า ไทเกอร์ ตอนครึ่ง สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน บง 2215 กระบี่ เป็นของนายวิพจน์ จอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลอ่าวลึก มีร่องรอยกระสุนยิงเข้าที่ตัวรถด้านหน้า และกระจกด้านข้าง ทั้ง 2 ด้าน แตกละเอียด ส่วนกระจกหน้ารถมีรูกระสุน จำนวน 7 รู และที่ฝากระโปรงรถ 3 รู และที่กระจกมองหลังด้านคนขับมีรูกระสุนอีก 4 รู และยังมีรูกระสุนที่หลังคารถอีก 1 รู ส่วนที่กระจกรถด้านหลังมีรูพรุนอีกเกือบ 10 รู แต่ไม่แตก ส่วนแนวทางการสืบสวน เจ้าหน้าที่ได้ตั้งประเด็นการสังหารไว้ 3 ประเด็น คือ เรื่องการเมืองในพื้นที่ ซึ่ง นายวิพจน์ เป็นนายกเทศมนตรีมา 2 สมัยแล้ว และที่ผ่านมาก็ได้มีการแข่งขันที่ดุเดือด และเรื่องการทำงานในหน้าที่นายกเทศมนตรี และเรื่องส่วนตัวที่อาจจะไปขัดแย้งกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด รวมทั้งประเด็นชู้สาว ซึ่งทราบว่า นายวิพจน์ มีภรรยา 2 คน และก่อนเกิดเหตุก็ได้ไปส่งภรรยาน้อยกลับบ้านก่อนที่จะถูกยิงถล่ม แต่ก็รอดมาได้  อย่างไรก็ตาม ญาติของ นายวิพจน์ ได้เล่าว่า สาเหตุที่ นายวิพจน์ รอดคมกระสุนอย่างปาฏิหาริย์ เนื่องจากได้ห้อยเหรียญหลวงพ่อนำ รุ่น 1 วัดดอนศาลา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ปี พ.ศ.2519


ประวัติพระอาจารย์นำ ชินวโร (นำ แก้วจันทร์) วัดดอนศาลา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง


ชื่อเสียงของ "ศิษย์" ในสายสำนักวัดเขาอ้อยังคงมีสืบสายต่อกันมาอย่างไม่ขาดระยะ แม้ว่าวัดดอนศาลาจะสิ้นพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ไปเมื่อปี พ.ศ. 2517 แต่ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2506 ศิษย์ฆราวาสสายสำนักวัดเขาอ้อ นาม "นำ แก้วจันทร์" ก็ได้เดินทางสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระอาจารย์นำ ชินวโร ที่โดดเด่นยิ่ง ซึ่งหากกล่าวถึงการศึกษาร่ำเรียนในสายสำนักวัดเขาอ้อแล้ว พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ก็เป็น "ศิษย์" ร่วมสมัยเดียวกับพระครูสิทธยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) แห่งวัดดอนศาลา และพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม แห่งวัดเขาอ้อ เหนืออื่นใดพระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นบุตรชายของพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ผู้เป็นศิษย์สำนักวัดเขาอ้อร่วมยุคพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันกับพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ผู้เป็นอาจารย์คือ พระอาจารย์เอียด เหาะได้ แห่งวัดดอนศาลา หากอาวุโสของพระอาจารย์เกลี้ยงอ่อนกว่าพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้บวชเรียนอยู่วัดดอนศาลาอยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาสิกขาไปมีครอบครัวแต่งงานกับนางเอียดอยู่ที่บ้านดอนนูด ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แม้ว่าจะออกจากสำนักวัดเขาอ้อไปแล้ว แต่อาจารย์เกลี้ยงยังได้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อยู่ เพราะว่าอาจารย์เกลี้ยงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นศิษย์สายฆราวาสที่ต้องเป็นผู้ช่วยประกอบพิธีกรรมต่างๆ ร่วมกับพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) จนเมื่อนางเอียดได้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร อาจารย์เกลี้ยงซึ่งเข้าถึงความทุกข์ของการสูญเลียสิ่งอันเป็นที่รักจึงเกิดความคิดที่จะละเพศฆราวาสหันเข้าพระศาสนาอีกครั้งหนึ่ง ต่อเมื่อทำการฌาปนกิจนางเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์เกลี้ยงจึงกลับสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง ด้วยความสนับสนุนของพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ทว่าในการอุปสมบทครั้งนี้อาจารย์เกลี้ยงได้ปวารณาว่าจะขอใช้ชีวิตแบบพระธุดงค์ ท่องธุดงค์ไปทั่วไม่ผูกติดกับสถานที่ ส่วนบุตรชาย คือ เด็กชายนำ แก้วจันทร์ ขณะนั้นยังเด็กอยู่ พระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) จึงรับไว้อุปการะ ทั้งนี้เพราะได้เล็งเห็นว่า เด็กชายนำคนนี้ ในอนาคตข้างหน้าจะต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังและเป็นผู้สืบทอดมรดกวิชาของสำนักวัดเขาอ้อได้ จึงนอกเหนือจากรับไว้เป็นศิษย์แล้ว พระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ยังรับไว้ในฐานะของบุตรบุญธรรม


พระอาจารย์นำ ชินวโร เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 (สิงหาคม) พ.ศ.2434 ที่บ้านดอนนูด ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่อผู้เป็นมารดาเสียชีวิต บิดาคือพระอาจารย์เกลี้ยงได้ก้าวล่วงสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง ตัวของพระอาจารย์นำ ชินวโร ในวัยเด็กอยู่ในความอุปการะของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) และได้ศึกษาร่ำเรียนอยู่ภายในสำนักวัดเขาอ้อ ต่อมาเมื่อพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้ธุดงค์กลับมายังบ้านเกิด และได้พำนักอยู่บริเวณป่าช้าใกล้บ้าน พระอาจารย์นำ ชินวโร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นฆราวาสและเติบใหญ่เป็นหนุ่มน้อยแล้ว ได้เดินทางไปมาหาสู่พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ภายใต้การสนับ สนุนของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) เพื่อให้นายนำได้ปรนนิบัติรับใช้ผู้เป็นบุพการี ระหว่างนั้นจึงต้องเทียวไปมาระหว่างสำนักวัดเขาอ้อ และที่พำนักของพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ กล่าวสำหรับพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ เมื่อทราบว่าบุตรชายได้ศึกษาวิชาขั้นพื้นฐานในสำนักวัดเขาอ้อมาแล้วพอที่จะถ่ายทอดวิชาต่างๆ เพิ่มเติมให้แก่บุตรชาย ซึ่งวิชาที่พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้ถ่ายทอดให้แก่นายนำในขณะนั้นเป็นวิชาในสายฆราวาสที่พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้รับการถ่ายทอดมาจากสำนักวัดเขาอ้อ กล่าวได้ว่าพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ก่อนจะบวชได้เรียนวิชาของสายสำนักวัดเขาอ้อทั้งในวิชาของสายฆราวาสจากพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ผู้เป็นบิดา และเรียนมาในสายบรรพชิตจากพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) จึงนับว่าเป็นความโชคดียิ่งของนายนำ แก้วจันทร์ ที่ไม่มีศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อคนใดจะได้รับเช่นนี้


ในปี พ.ศ.2451 นายนำ แก้วจันทร์ มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุกับพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) บวชเรียนอยู่ 6 พรรษา จึงลาสิกขา แล้วแต่งงานกับนางสาวพุ่ม ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านดอนนูด มีบุตรชายหญิงด้วยกัน 4 คน หากยังคงไปวัดเขาอ้อปรนนิบัติรับใช้พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพตอยู่เสมอ พร้อมช่วยประกอบพิธีกรรม ต่างๆ ในฐานะศิษย์ฆราวาส และเมื่อพระครู สิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลาสืบต่อจากพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ที่มรณภาพไปเมื่อปีพ.ศ. 2460 อาจารย์นำ แก้วจันทร์ จึงไปมาหาสู่พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) ที่วัดดอนศาลาอันใกล้บ้านของท่าน ด้วยความคุ้นเคยใกล้ชิดที่มีต่อกัน และได้ช่วยประกอบพิธีกรรมต่างๆ แม้ว่าตอนนั้นพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) จะมีศิษย์ฆราวาสคู่บารมีอยู่แล้ว คือ ผู้ใหญ่ยอดแก้ว แต่ต่อมาเมื่อผู้ใหญ่ยอดแก้วอายุมากขึ้น ภาระหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมสายฆราวาสจึงตกอยู่กับอาจารย์นำ แก้วจันทร์ โดยตลอดเรื่อยมาจวบจนพระครู สิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) มรณภาพ ในปีพ.ศ.2505 อาจารย์นำ แก้วจันทร์ อายุ 74 ปี ได้เกิดล้มป่วยอาการทรุดหนักลงตามลำดับ อาการป่วยในครั้งนี้หนักหนาสาหัสอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยากแก่การจะมีชีวิตรอดมาได้ ถึงขั้นมีการตระเตรียมงานศพไว้รอ และแล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อภาพนิมิตของ พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต(ทองเฒ่า) ได้ปรากฏให้เห็นบอกว่า "หากรับปากจะกลับไปบวชอีกครั้งหนึ่ง อาการป่วยที่เป็นอยู่ก็จะกลับกลายหายเป็นปกติ


ทั้งยังมีโอกาสทำนุบำรุงวัดดอนศาลา และพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคต" ครั้นเมื่อรับปากอาการเจ็บป่วยก็ทุเลาเป็นลำดับ และหายเป็นปกติ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2506 อาจารย์นำ แก้วจันทร์ ได้เข้าอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดดอนศาลามี พระพุทธิธรรมธาดา วัดสุวรรณวิชัย (วัดกุฏิ) รองเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูกรุณานุรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูกาชาด(บุญทอง) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้พำนักจำพรรษาที่วัดดอนศาลา โดยมีลูกศิษย์รูปสำคัญคอยดูแลอย่างใกล้ชิดคือ พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ซึ่งหากนับพรรษาแล้ว พระอาจารย์นำ ชินวโร อาจอ่อนเยาว์ แต่หากนับถึงความอาวุโสในฐานะของศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อในห้วงเวลานั้นแล้ว พระอาจารย์นำ ชินวโร อาวุโสเป็นอย่างยิ่ง อาวุโสในลำดับของครูบาอาจารย์ทีเดียว ที่พระอาจารย์นำ ชินวโร เคยปฏิเสธคำขอของบรรดาลูกศิษย์ที่ให้ท่านกลับเข้าสู่เพศบรรพชิตในครั้งก่อนๆ ก็เนื่องเพราะเกรงความยุ่งยากในการวางตัวของศิษย์บรรพชิต เพราะในทางสงฆ์ความอาวุโสวัดกับที่จำนวนพรรษา เวลานั้นศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาโดยตรงจากพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต มี พระอาจารย์นำ ชินวโร อาวุโสสูงสุด เหนือกว่าศิษย์ทุกรูปทุกคนทั้งสายบรรพชิต และฆราวาส ดังนั้นเป็นเหตุให้ชื่อเสียงของ พระอาจารย์นำ ชินวโร เกริกไกรยิ่ง เปรียญเสมือนเป็นประธานของบรรดาศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อ ไม่ว่าจะขัดข้องติดขัดประการใด จะมาขอคำแนะ นำจาก พระอาจารย์นำ ชินวโร เสมอ เหตุนี้จึงทำให้พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้รับการนิมนต์ให้เป็นเจ้าพิธีและเป็นประธานในการประกอบพิธีกรรม ต่างๆ อยู่เนืองๆ พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ทำประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญมีดังนี้ การช่วยเหลือราชการปราบโจรผู้ร้าย ในสมัยที่พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นฆราวาส พ.ศ.2466 มณฑลนครศรีธรรมราชได้ส่งพระยาวิชัยประชาบาลไปปราบโจรผู้ร้ายในจังหวัดพัทลุง ได้ตั้งกองปราบที่บริเวณวัดสุวรรณวิชัย พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นกำลังสำคัญในการนำสืบจับโจรผู้ร้าย นับว่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปราบครั้งนั้นมาก


การสร้างวัตถุมงคล พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้มาก ทั้งที่สร้างด้วยตัวท่านเอง และสร้างร่วมกับพระคณาจารย์อื่นๆ เช่น พ.ศ.2483 ร่วมมือกับ พระครูสิทธิยาภิรัต(เอียด ปทุมสโร) สร้างพระมหาว่านดำ-ขาว และพระมหายันต์ แจกให้ทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน พ.ศ.2512 สร้างพระเนื้อผงจำนวน 4 พิมพ์ พ.ศ. 2513 สร้างพระปิดตาเนื้อชินตะกั่ว พ.ศ.2519 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนพระอาจารย์นำ ชินวโร และพระกริ่งทักษิณชินวโร ซึ่งเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายของท่าน นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างตะกรุด และผ้ายันต์ไว้จำนวนมาก วัตถุมงคลเหล่านี้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนทั่วไป