===Not Click=== ===Not Click===

วิธีดูเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเมฆ วัดประจิมทิศาราม จ.พัทลุง พ.ศ.2518 (เส้นฐาน)

วิธีดูเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเมฆ วัดประจิมทิศาราม จ.พัทลุง พ.ศ.2518


เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเมฆ วัดประจิมทิศาราม จ.พัทลุง จัดการสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่ได้มาปลุกเสกในปี พศ.๒๕๑๙ ในตอนเริ่มพิธีในตอนแรกเขาก็ได้นิมนต์ตาหลวงเมฆมาร่วมนั่งปลุกเสกด้วยแต่ว่าตอนนั้นตาหลวงเมฆชรามากแล้ว มานั่งนานไม่ได้ ตาหลวงท่านอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่คอ ตอนนั้นน้ำหมากย้อยเพรื่อข้างปากเต็มไปหมด จนในที่สุดด้วยความเคารพของท่านเจ้าคุณพระภัทรกิจโกศล(รุ่ง) วัดโคกคีรี ก็ได้สั่งให้คนนั้นพาท่านกับไปยังกุฏิแล้วเรียนบอกตาหลวงเมฆว่า เดี้ยวโหม้ผมเสกให้เองอาจารย์เห้อ แล้วก็สวดธรรมจักรจบลง ก็ปลุกเสกนั่งบริกรรมคาถา ด้วยทั้งหมดมีดังนั้ ๑. พระครูถาวรชัยคุณ ( หลวงปู่หมุน) วัดเขาแดงออก ๒. พระภัทรกิจโกศล ( เจ้าคุณรุ่ง) วัดโคกคีรี ๓. พระราชปฏิภาณมุนี ( เจ้าคุณสงฆ์ ) อดีตจจ.พัทลุง วัดคูหาสวรรค์ ๔ . พระครูปลัดจิ้ว กิตติสทฺโท อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกแย้ม และ ๕.พระครูพิสิฐธรรมคุณ ( ตาหลวงเอียด) วัดโคกแย้ม





ตาหลวงเมฆเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านเจ็นตกและคนทั่วไปให้ความเคารพนับถือศรัทธาในความสามารถเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านไสยศาสตร์และการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูก ชาวบ้านเจ็นและคนทั่วไปที่มาเข้ารับการรักษาจากตาหลวงถึงจะเจ็บมาแต่ก็ถือว่าโชคดีที่ได้เจ็บเพราะเจ็บครั้งนี้หาเจ็บกายเปล่าไม่แต่กลับได้รับประโยชน์ถึงสองเท่าเพราะการที่ผู้ป่วยมารักษากับตาหลวงเมฆ นอกจากจะรักษาอาการเจ็บป่วยภายนอกแล้วยังฟื้นฟูรักษาภาวะจิตใจของผู้ป่วยให้กลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่ประสบเหตุการณ์ร้ายๆมา จึงถือได้ว่า ตาหลวงเป็นทั้งหมอ ยาและหมอใจของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่า “หมอผ้าเหลือง” ในรั้วกำแพงวัดเจ็นตกที่เปี่ยมลันไปด้วยเมตตาและความเสียสละอย่างแท้จริง พระครูปลัด สำเริง สมานันฺโท เล่าว่า ตาหลวงเมฆเป็นคนเจ็นตกโดยกำเนิดมีพี่น้อง 7 คน เป็นลูกของนายเพ็ง นางไพ สมพงศ์ ตาหลวงเมฆได้แลกที่ดินของตนเองกับชาวบ้านเพื่อที่จะนำที่ดินที่ได้แลกมานั้นไปก่อตั้งเป็นโรงเรียนวัดประจิมทิศาราม(เมฆ-ประชาบำรุง) พระครูวิจิตรธรรมวิภัช ฉายา เตชธมฺโม เจ้าอาวาสวัดจินตาวาส(วัดเย็นใหญ่) อดีตรองเจ้าอาวาสวัดประจิมทิศาราม(วัดเจ็นตก) ปี พ.ศ.2517 เล่าว่า ตัวตาหลวงเองบวชเมื่อวันที่ 3 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510 ณ พัทธสีมา วัดเจ็นตก ได้ศึกษาวิชาอยู่กับตาหลวงเมฆ จนได้สำเร็จวิชาทางไสยศาสตร์ และสำเร็จ รู้ วิชาการทำน้ำมันเอ็น แต่ตาหลวงไม่มีเวลาพอที่จะมาทำงานตรงนี้ ปัจจุบันนี้ตาหลวงฑูรย์เป็นผู้สืบทอดตำรับวิชาต่อจากตาหลวงเมฆ ตาหลวงเมฆ เกิดมื่อวันศุกร์ เดือน 4 ปี 2430 ตาหลวงเมฆบวชที่วัดเจ็นตก แล้วมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดโตร๊ะ(วัดตำนาน) ได้สร้างอุโบสถขึ้นมา 1 หลัง ปัจจุบันนี้ถูกบูรณะใหม่ จนมาถึงปี พุทธศักราช 2460 ตาหลวงเมฆย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็นตก จนถึงวันมรณภาพ ตาหลวงเมฆมรณภาพด้วยโรคมะเร็งที่ปาก เมื่อปี 2520 สาเหตุเนื่องจากตาหลวงเมฆมีลูกศิษย์และผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก บรรดาศิษย์ทั้งหลายต่างก็นำหมากมาถวายให้ตาหลวงฉันท์ ตาหลวงก็ฉันท์หมากทุกวัน วันหนึ่งก็ฉันท์หลายรอบหรือจะพูดว่าฉันท์ทั้งวันเลยก็ว่าได้ เป็นบ่เกิดทำให้ตาหลวงเป็นโรคมะเร็ง แต่ขณะที่ตาหลวงป่วยอยู่ตาหลวงก็ยังให้การบริบาลแก่ผู้ป่วยโดยมิได้แยแสอาการป่วยปวดของตนไม่


นายวิรัตน์ วงสวัสดิ์ ได้เขียนบันทึกถึงประวัติตาหลวงเมฆไว้ว่า ตาหลวงเมฆเป็นบุตรของนายเพ็ง สมพงศ์ มารดาชื่อ นางไพ มีพี่น้องรวม 7 คน ชาย 3 คน หญิง 4 คน ก่อนที่ตาหลวงเมฆจะมาบวชนั้นยายทรัพย์บอกเล่ากับนางจัดว่า ตนไปซื้อผ้าไตรมาบวชน้อง ไปซื้อที่ตลาดลำปำหน้าท่าเรือเพราะเมื่อก่อนมีตลาดอยู่ที่ลำปำ เพราะตลาดพัทลุงตอนนั้นที่เขาเรียกว่า “สีกั๊ก”ยังไม่มี นางจัดว่าผ้าที่เอามายังไม่แน่ว่าจะไปบวชที่วัดไหนแต่ที่แน่ๆคือไม่บวชที่ลำปำ


ในช่วงหลังนามสกุล สมพงศ์ถูกเปลี่ยนโดย ครูย้อย เพ็งประไพ โดยครูย้อยเอาชื่อของนายเพ็งกับนางไพมาผสมคำเป็นเพ็งประไพ นายเอี่ยม เพ็งหนูเล่าว่าตาหลวงเมฆได้สละที่ดินตนเองเพื่อสร้างโรงเรียนวัดประจิม-ทิศาราม(เมฆ-ประชาบำรุง) ตาหลวงเมฆยังมีเพื่อนเกลอซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกเหมือนกันนามว่า ตาหลวงชุม วัดชุมประดิษฐ์ ปัจจุบันมรณภาพแล้ว นอกจากนี้ตาหลวงเมฆยังมีลูกศิษย์เป็นนายหนังตะลุงคือหนังเลิศฟ้า ที่สำคัญหนังเลิศฟ้ายังเป็นคณะหนังตะลุงที่ชาวบ้านระดมทุนมาเล่นในงานศพตาหลวงเมฆ ตาหลวงเมฆมรณภาพเมื่อปี 2520 แต่ก่อนหน้าที่จะมรณภาพนั้นได้มีการทำเหรียญตาหลวงรุ่นแรกขึ้นปี 2518 นายสว่าง คงพูล เล่าว่าตาหลวงเมฆเป็นผู้บุกเบิกวัดโตร๊ะ วัดเจ็นตก และตาหลวงสิ้นบุญเมื่อปี พ.ศ.2520 ด้วยโรคมะเร็งที่ปาก นายชู สังฆานาคินทร์ เล่าว่า ท่านครูนั้นเมื่อก่อนเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดโตร๊ะด้วย (วัดตำนาน) แต่บวชที่วัดเจ็นตก


ต่อมาตาหลวงมรณภาพด้วยโรคมะเร็งที่ปาก ณ วัดเจ็นตก ในวันศุกร์ เดือน 4 ปี 2520 ตอนนั้นตาหลวงอายุ 90ปี แต่ก่อนตาหลวงมรณภาพได้มีการทำเหรียญตาหลวงรุ่นแรกในปี 2518 วาจาสิทธิ์อิทธิฤทธิ์ตาหลวงเมฆ ตาหลวงเมฆเป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านเจ็นและบุคคลทั่วไปให้ความเคารพนับถือเนื่องจากตาหลวงเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการทำน้ำมันเอ็นรักษาผู้ป่วยโรคกระดูก และการต่อกระดูก ดูดกระสุนซึ่งเป็นความสามารถที่ตาหลวงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก


นอกจากนี้ตาหลวงยังมีความสามารถทางด้านไสยศาสตร์ที่ยากจะหาข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ ถ้าตาหลวงลั่นวาจาอันใดออกไปแล้วคำกล่าวเหล่านั้นจะพลิกแปลงมาเป็นภาพสถานการณ์จริงตามที่ตาหลวงได้กล่าวไป ณ ครั้งนั้นๆ นายสว่าง คงพูล เล่าว่า เคยมีชายชราคนหนึ่งชื่อว่าตาไข่(นามสมมติ)ไปทำร้ายตาเคลื่อน(นามสมมติ)ซึ่งขณะนั้นตาเคลื่อนอยู่ในวัดจ็นตก เมื่อตาหลวงเมฆทราบเรื่องเข้าจึงอุทานขึ้นว่า “บ้าๆทั้งเพไอ้โบ้ที่มาฟันคนในวัด” (บ้าๆทั้งนั้นไอ้พวกที่มาทำร้ายคนในวัด) ต่อมาไม่นานตาไข่ก็ถูกฤทธิ์วาจาสิทธิ์ตาหลวงเมฆเล่นงานจนกลายเป็นคนบ้าในที่สุด นางยุพเรศ โรจนศิลป์ แม่ของข้าพเจ้าเล่าว่า มีคนโดนยิงแล้วมารักษากับตาหลวงเมฆ หลังจากนั้นคู่อริก็ตามมายิงซ้ำที่วัดเจ็นตก จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตาหลวงเมฆเห็นเหตุการณ์เข้าจึงพูดว่า “คนเท่มั้นมายิงในวัด เดียวมั้นกะตายโหงเอง” (คนที่มันมายิงในวัดเดี๋ยวมันก็ตายโหงเอง) ผู้ก่อเหตุคนดังกล่าวเมื่อมาทำการสำเร็จวัตถุประสงค์ของตนแล้ว ก็หลบหนีการจับกุม ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเดิมบุคคลผู้นี้ก็ถูกยิงจบชีวิตลงเฉกเช่นกับที่ตนทำผู้อื่นไว้ วาจาสิทธิ์ของตาหลวงเมฆศักดิ์สิทธ์จริงๆ ตาหลวงเมฆพูดอะไรแล้วก็จะเป็นไปตามที่ตาหลวงพูด “อย่าเที่ยวไปเขลอะกับแกแหละ” (อย่าไปทำตัวเกะกะ ระรานกับท่านนะ)


และแม่ของข้าพเจ้าก็ได้ต่อว่า สมัยก่อน ตาหลวงเมฆจะชอบฉันน้ำตาลเมา(น้ำตาลโตนด) เนื่องจากมีลูกศิษย์นำมาถวายอยู่เป็นประจำ “เพล้งหนวยนึ่งอั้นมีแต่น้ำตาลเต็มหนวยนิ” (คนโท) วันนั้นตำรวจจะมาจับตาหลวงเมฆ ข้อหามีของมึนเมาไว้ในครอบครอง ด้วยความที่ตาหลวงเมฆมีความสามารถทางด้านไสยศาสตร์ จึงไม่ปฏิเสธที่จะให้ตำรวจตรวจค้น ทันใดนั้น น้ำตาลเมาในคนโทก็ได้กลายเป็นน้ำดื่มธรรมดาภายในพริบตา ตำรวจจึงไม่สามารถเอาผิดกับตาหลวงเมฆได้ นายอ้น ยงหนู กล่าวว่า ตาหลวงเมฆนั้นเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ “เป็นสิทธิ์ เป็นชัย วาจาสุภาพ”


นายเปลือน ยงหนู เล่าว่า ตาหลวงเมฆมีลูกศิษย์ชื่อว่านายขุ้ง(นามสมมติ) เป็นชาวบ้านโตร๊ะ(บ้านตำนาน) ตอนนั้นนายขุ้งยังเป็นวัยรุ่นชอบเที่ยวเตร่ตามประสา ตาหลวงด้วยความที่เป็นห่วงศิษย์บวกกับความโกรธจึงอุทานว่า “ตายอ้ายขุ้งเหอกันหมึ.งอยู่ปันนี้” (แย่แน่ๆไอ้ขุ้งถ้ายังทำตัวอยู่แบบนี้) จากนั้นไม่นานนายขุ้งก็โดนยิงเสียชีวิต เป็นจริงตามคำอุทานของตาหลวง นายมะลิ ชูปาน เล่าว่า มีผู้ป่วยคนหนึ่งโดนยิงมาแล้วมาเข้ารับการรักษาที่วัดเจ็นตก แต่ด้วยความที่คู่อริยังไม่หายแค้นจึงตามมายิงซ้ำที่วัดเจ็นตก จนเสียชีวิตในที่สุด ตาหลวงเมฆรู้เข้าจึงอุทานว่า “เพื่อนหนีมาพึ่งกูแล้ว มั้นยังตามมายิงเหลย มั้นก้อหมาไปถึงไหนไหม” (ผู้ป่วยหนีมาพึ่งตาหลวงแล้ว ผู้ร้ายยังตามมายิงอีก มันก็คงจะไปได้ไหนไม่ไกล) นายมะลิเล่าว่าผู้ป่วยคนนี้พักกุฏิหลังเดียวกับตน หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ดวงวิญญาณก็มาหลอกมาหลอนตน จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน กัดกินบาดแผลให้ลุกลาม เน่าเปื่อย เป็นหนองเฟอะฟะ ส่วนคนที่มายิงผู้ป่วยก็ได้หลบหนีความผิด หนีไปไม่ทันถึงไหนก็จบชีวิตลง ฉากสุดท้ายของชีวิตนอนจมกองเลือดเป็นเป้าให้คนอื่นยิงเล่นเหมือนที่ตนทำกับผู้อื่น


นายชู สังฆานาคินทร์ เล่าว่า ในอดีตเคยมีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อว่า ตาหลวงนิ่ม เป็นผู้ทดลองวิชากับตาหลวงเมฆ โดยตาหลวงนิ่มได้พูดไว้ว่า “ถ้าฉานทำขึ้นมามั่ง ท่านเมฆกะหาได้เท่าฉานไหม” (ถ้าตัวของตาหลวงนิ่มทำน้ำมันเอ็นขึ้นมาบ้าง วิชาตาหลวงเมฆก็หาได้เทียบเท่ากับวิชาของตาหลวงนิ่มหรอก) ข่าวก็ได้ยินไปถึงหูของตาหลวงเมฆเข้า ตาหลวงเมฆก็อุทานขึ้นว่า “มั้นร้อนตัวมั้นและ” (ตาหลวงนิ่มร้อนเนื้อร้อนใจ กระวนกระวายคิดไปเอง) หลังจากตาหลวงเมฆพูดคำนั้น ไม่นาน ตาหลวงนิ่มก็เกิดอาการร้อนตัวดั่งโดนไฟเผาโดยไม่ทราบสาเหตุ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา นายชู เล่าต่อว่า เมื่อตาหลวงเมฆอายุประมาณ 90 ปี ตาหลวงเมฆก็ได้ล้มป่วยด้วยมะเร็งที่ปาก ทวดได้ไปเยี่ยมตาหลวงที่วัด แล้วถามตาหลวงว่า “ท่านครูจะไปวันไหน” ตาหลวงเมฆก็ตอบว่า “ไปตอวันสุกโด๋”(จะไปวันศุกร์) พอถึงวันศุกร์ตาหลวงเมฆก็มรณภาพจริงตามที่ปากพูด ซึ่งวันศุกร์ก็เป็นวันเกิดของตาหลวงเมฆเช่นกัน ยุครุ่งเรืองของน้ำมันเอ็นในสมัยตาหลวงเมฆ วัดเจ็นตกเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในอดีตเป็นยอมรับเคารพและศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในด้านในการรักษาโรคกระดูก โดยใช้น้ำมันเอ็นวัดเจ็นพ่อท่านเมฆหรือพระครูเมฆ ปุณฺณสโร เจ้าอาวาสรูปที่ 6 หรือชาวบ้านเรียกกันว่าตาหลวงเมฆบ้าง ท่านพระครูบ้าง


พระครูปลัดสำเริง สมานันฺโท เจ้าอาวาสวัดเจ็นตกรูปปัจจุบันเล่าว่า ตาหลวงเมฆเป็นพระสงฆ์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา สละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม อย่างยากจะหาใครอื่นมาเทียบเทียมได้ ในสมัยนั้นตาหลวงเมฆเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดจนถึงน้ำมันเอ็น และชื่อวัดเจ็นก็เป็นที่รู้จักไม่แพ้กันทำให้คนทุกจังหวัดที่เจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกทั้งกระดูกแตก กระดูกหัก กระดูกเคลื่อน ตลอดจนคนที่โดนทุบที ฟัน แทง ไม่เว้นแม้แต่คนที่โดนยิงยังเชื่อมันและศรัทธามารับการรักษาและการบริบาลจากตาหลวงเมฆ เนื่องจากการรักษาของวัดเจ็นจะเน้นการรักษาสภาพร่างกายให้คงไว้ซึ่งลักษณะปกติมากที่สุดเช่นการใส่ฟากไม้ไผ่จะไม่เน้นการผ่าหรือใส่เหล็กเหมือนโรงพยาบาล น้ำมันเอ็นจะช่วยสลายลิ่มเลือดที่ช้ำ อีกทั้งยังช่วยสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น ถามว่ารักษาแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร กลุ่มคนที่มีอาการเหล่านี้ ต่างก็ตอบว่าหายดีขึ้น บางคนก็หายเป็นปกติ เหลือแค่แผลเป็นแหล่งความทรงจำ บางคนที่เจ็บหนักหน่อยอาการก็ดีขึ้นเกือบเป็นปกติ แต่คนที่มารักษาร้อยทั้งร้อยไม่มีใครที่กลับบ้านพร้อมกลับหยาดน้ำตาเลยซักคน แล้วไม้มีใครทิ้งแขนทิ้งขาไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่กลับทิ้งไว้เพียงไม้เท้า ที่ใช้พยุงตอนขามาเท่านั้น ทุกคนกลับบ้านไปด้วยพร้อมกับอวัยวะครบ 32 แต่ได้ของขวัญลำดับที่ 33 ก็คือ รอยยิ้มแห่งความภูมิใจและแรงศรัทธาที่มีต่อ “สำนักวัดเจ็นน้ำมันเอ็นพ่อท่านเมฆ” พระไล่ สุทธิสิโร หรือนายไล่ เส็งเข็ม เล่าว่า ในอดีตตนได้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ ทำให้แขนซ้ายหัก ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แล้วทางโรงพยาบาลก็ผ่าตัดใส่เหล็กในช่วงตอระหว่างข้อศอกถึงข้อมือแล้วทางโรงพยาบาลก็ดามเหล็กให้ ตาหลวงรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาประมาณ 20 วัน มาอยารักษาตัวที่บ้าน อีก 4 วันโดยทางโรงพยาบาลไม่ได้จัดยาให้ต่อเนื่อง พอหมดยาแล้วก็ขาดการรักษา แต่บริเวณจากหัวไหล่ถึงข้อศอกมารักษากับตาหลวงเมฆ ตอนนั้นอายุ 39 ปี ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยมา 36 ปีแล้ว


ตอนนั้นตาหลวงทราบข่าวจาก นางนุ้ย ชาวบ้านปรางหมู่ ชึ่งไปมีครอบครัวอยู่ที่บ้านหนองบ่อ ยายนุ้ยบอกตาหลวงว่า “ไปโน้นตะโลกเหอ ไปรักษาวัดเจ็นโด๋”(ไปที่โน่นเถอะลูกจ๋า ไปรักษาที่วัดเจ็นตกเถอะ) แล้วตาหลวงก็เดินทางมาเข้ารับการรักษาจากตาหลวงเมฆที่วัดเจ็นตก แล้วตาหลวงก็พักอยู่ที่วัดเจ็นตกเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ตาหลวงเมฆรักษาโดยให้ทาน้ำมัน เอ็นติดต่อกันทุกวัน ปริมาณน้ำมันเอ็นที่ใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บของตาหลวงใช้น้ำมันเอ็นไปประมาณ 3 ลิตรน่าจะได้ ส่วนเรื่องอาหารการกิน ตาหลวงแนะให้กิน แกงที่กินพอรู้รสไม่มีรสจัดจ้าน ขนมพอหวานเล็กน้อยเช่น ขนมลูกทอย ถ้าเกิดเรากินอาหารที่ตาหลวงห้ามอาการบาดเจ็บก็จะไม่หาย ต้องปฏิบัติตามข้อห้ามอย่างเคร่งครัด “กินเว้ย กินวาหม้ายได้”(กินตามใจชอบไม่ได้) เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งตาหลวงอยากกินลูกกระท้อนมากเลยถามตาหลวงเมฆว่า “กินได้หม้ายอะตาหลวงโลกท้อนงั้น”(กินได้หรือเปล่าครับตาหลวงลูกกระท้อนหนะ) ตาหลวงเมฆก็ตอบว่า “กินได้ในสองใน”(กินได้ 1 เมล็ด หรือ 2 เมล็ด ) ตาหลวงตอบอย่างนั้นแสดงว่ากินไม่ได้ ถ้าจะกินก็ได้แต่ต้องกินเพียงแต่น้อยเท่านั้น แล้วมันจะไปอร่อยกับอะไร ตาหลวงก็เลยตัดสินใจไม่กินไปเลย รอให้แผลหายก่อนแล้วค่อยกิน ตาหลวงปฏิบัติตามคำแนะนำของตาหลวงเมฆและรักษาด้วยน้ำมันเอ็นจนอาการเจ็บป่วยก็หายลงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือความจริง คนจริงที่ได้มอบชีวิตใหม่ให้กับตาหลวง 


ตาหลวงไล่ ยังเล่าต่ออีกว่าในสมัยนั้นโรงพยาบาลไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคกระดูกมารักษากับวัดเจ็นตก ถึงขนาดที่ว่า ทางโรงพยาบาลเรียกวัดเจ็นตกด้วยถ้อยความที่หยาบคายว่า “โรงพยาบาลนรก” นายมะลิ ชูปาน เล่าว่า ลุงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กระดูกเท้าซ้ายแตก ตอนอายุประมาณ 17 ปี พอเกิดเหตุถึง ก็มีผู้หวังดีชื่อว่าหลวงปู พาลุงไปรักษาที่วัดเจ็นตก เมื่อไปถึงที่วัดเจ็นตกตาหลวงเมฆก็รักษาโดยว่าคาถาพร้อมๆกับทาน้ำมันเอ็นแล้วใส่ควากไม้ไผ่ให้(เผือกไม้ไผ่) หลังจากรักษาเสร็จในวันนั้น ลุงก็ได้พักรักษาตัวอยู่ที่วัดเจ็นตกในกุฏิที่ตาหลวงสร้างไว้ให้คนไข้พัก พอรุ่งเช้าของอีกวัน ตาหลวงก็จะถอดควากไม้ไผ่ออกแล้วทาน้ำมันเอ็นพร้อมว่าคาถาทำอย่างนี้วันละ 2 มื้อ (2 ครั้ง)ช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ทำอย่างนี้ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณเดือนกว่าแล้วกลับมารักษาตัวที่บ้านต่ออีกประมาณ 1 เดือน อาการป่วยจึงหายดี แต่ระหว่างการรักษาลุงต้องต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของตาหลวงเมฆอย่างเคร่งครัด เช่น ตาหลวงเมฆห้ามไม่ให้กินอะไรก็จะไม่กิน เช่น ห้ามกินกล้วย ห้ามเข้าใกล้ดงกล้วย ห้ามข้องเกี่ยวกับทุกองค์ประกอบของกล้วย ตาก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดถึงแม้จะไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมตาหลวงถึงห้ามก็เถอะ นอกจากตาหลวงเมฆจะมีข้อห้ามเกี่ยวกับกล้วยแล้ว ตาหลวงเมฆยังห้ามกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์บางชนิดอีกด้วย เช่น ห้ามกินปลาดุก หรือเนื้อปลาที่มีลักษณะเหมือนปลาดุก เพราะเชื่อว่าจะไปทิ่มแทงบาดแผลให้เจ็บปวดและหายช้ากว่าปกติ ต่อมาคือห้ามกินเนื้อวัว ห้ามกินเนื้อไก่เพราะเชื่อว่าบาดแผลจะเน่าเปื่อย


ตาช็อกยังกล่าวต่ออีกว่า ถ้าเราปฏิบัติตามคำแนะนำแผลของเราก็จะหายเร็ว ความเจ็บปวดก็ทุเลาลงและหายไปในที่สุด จากนั้นตาช็อกยังเล่าต่ออีกว่า หลังจากที่ตนเข้ารับการรักษาจากวัดเจ็นตก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดกับตาช็อกก็กระชับมากขึ้น เวลาวัดมีงานสำคัญตาช็อกมาทำบุญที่วัดบ่อยขึ้น ตลอดถึงความศรัทธาที่มีต่อตาหลวงเมฆก็มากขึ้นด้วย เฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่มีความผูกพันกับวัดเจ็นตกทั้ง ชาวบ้าน ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ไม่เว้นแม้แต่บุคคลสัญจรที่มาแวะเวียนบุคคลเหล่านี้ต่างก็จะแสดงน้ำใจตอบแทนบุญคุณของวัดตามกำลังศรัทธาของตน ลางคนก็บริจาคเงินเข้าวัดเพื่อเป็นสินน้ำใจ ให้ตาหลวงได้นำเงินส่วนนี้ไว้เป็นทุนสมทบค่าใช้จ่ายภายในวัด แต่คนส่วนใหญ่ก็ มักจะนำสมุนไพรและส่วนผสมในการทำน้ำมันเอ็นมาถวายให้ตาหลวง เนื่องจากวัดไม่เรียกร้องค่ารักษาจากผู้ป่วยไม่ว่ากรณีใดๆก็ตามแต่ สมุนไพรที่นำมาทำน้ำมันเอ็นเกือบร้อยเปอร์เซ็นจึงได้มาจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ยังพึงมีความรัก ความห่วงใย และความศรัทธาอย่างมากล้นต่อวัดเจ็นตก แม้ว่ากายจะห่างไกลจากร่มบุญแห่งศาสนาแล้วก็เถอะ ส่วนตอนที่ตาช็อกมารักษาที่วัดเจ็นตก ตอนนั้นมีความเชื่อว่าการรักษาของตาหลวงมฆต้องหาย เพราะรู้ดีว่าถ้าไปโรงพยาบาลจะต้องถูกตัดขาแน่ เนื่องจากในสมัยนั้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่พัฒนาคนที่ขาแตก ไหปลาร้าหัก จะถูกตัดทุกราย ส่วนผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในสมัยนั้นบางรายก็ต้องนอนค้างคืนที่วัด


ตาช็อกยังเล่าต่ออีกว่าตอนที่ตาไปรักษาที่วัดเจ็นตก ตาหลวงเมฆมีผู้ช่วยพระ 2 คน คนแรกตาก็จำไม่ได้ว่าชื่ออะไร ส่วนที่ 2 ชื่อว่า ตาปลอดชายคนนี้เป็นชายชราตาบอดที่ไปช่วยรักษาผู้ป่วย ชายตาบอดผู้นี้จะช่วยรักษาผู้ป่วยโดยใช้ริมชายผ้าที่ใช้พาดไหล่ของตนมาม้วนเป็นเกลียวแล้วใช้ประคบบาดแผลแล้วตีเบ่าๆพร้อมท่องคาถา ไม่เพียงแค่นั้นชายชราผู้นี้ยังมีความสามารถที่น่าทึ่งอีกอย่างก็คือ เวลาขึ้นไปเก็บลูกมะพร้าวตาปลอดจะใช้ให้คนอื่นขึ้นไปเก็บแล้วตนก็เคาะดู ตาปลอดจะรู้เลยว่าลูกไหนแก่ ลูกไหนสุก หรือลูกไหนเหมาะที่จะเอาไปทำน้ำมันเอ็น “ตาปลอดหนะแกเก่งมากเลย น่านับถือด้วย” ตาช็อกพูดทิ้งท้าย นายเอี่ยม เพ็งหนูหรือว่าตาเหลี้ยม กล่าวว่าตนในฐานะเด็กวัดเก่า คือเป็นเด็กวัดที่ได้สัมผัสพึ่งพาวัดเจ็นตกมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2505-2511 ซึ่งเป็นสมัยที่ตาหลวงเมฆยังมีชีวิตอยู่ ตนจึงได้มีโอกาสช่วยเหลือตาหลวงทำน้ำมันเอ็น ในการทำน้ำมันเอ็นนั้นตาหลวงจะใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบในการผลิต “มันมีหลายชนิดนะที่ตาหลวงใช้หนะ” ตาเหลี้ยมกล่าว สมุนไพรในหมู่บ้านหลายชนิดนักที่นำมาทำน้ำมันเอ็นได้ เช่น น้ำมันมะพร้าวหรือนำมันงาก็ได้ เขาควายดำ เขาควายขาว ดีงูเหลือม ส้อสี ขี้ผึ้งเป็นแท่น ขมิ้นอ้อย กระเทียม นิลภูสี (มีลักษณะเป็นหัวสีน้ำตาล มีขนรอบหัว เหมือนขนแมว ขนาดเท่ากับลูกมะพร้าวน้ำหอม พบได้ตามป่าลึก ส่วนที่นำมาทำเป็นยาคือขนรอบหัว ปัจจุบันมีการสกัดออกมาเป็นผง มีจำหน่ายตาร้านขายยา)เกลือ วัสดุอุปกรณ์ ครกดิน ไม้ฟืน ไฟตี(เหล็กกับหิน ) หม้อหรือกระทะ ไม้ฟืน จวักสแตนเลส ส่วนวิธีการบริบาลของตาหลวงเมฆคือ 1. ถามอาการของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการบริบาล 2. ทำการเสกน้ำมนต์ 3.นำหัวไพรมาทำเป็นสายข้อมือ พร้อมด้วยว่าคาถา ระยะเวลาในการรักษา กรณีผู้ป่วยกระดูกหัก หรือกระดูกเลื่อน ระยะเวลาที่รักษาจะไล่เลี่ยกัน เฉลี่ยประมาณ 2 – 3 เดือน ก็จะดีขึ้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเอง และการกินต้องเป็นตามคำสั่งของตาหลวงเมฆ ไม่รับประทานของแสลง อีกทั้งสุขภาพต้องดีด้วยเพื่อให้การรักษาได้ผลดีขึ้น


ในสมัยก่อนวัดเจ็นตกมีกลุ่มคนที่มาเข้ารับการบริบาลหลากหลายกลุ่มมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และทุกๆ ศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย ตลอดถึงข้าราชการอาวุโส และนักกีฬา สุดท้ายกลุ่มคนที่เข้ารับการบริบาลมากที่สุด คือกลุ่มคนที่ประสบอุบัติเหตุ แล้วได้รับบาดเจ็บมีอาการ เอ็นจม กระดูกเลื่อน และกระดูกหัก เนื่องจากสมัยก่อนเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเฉกเช่นในปัจจุบันนี้ การคมนาคมก็ยังไม่สะดวก อีกทั้งผู้ป่วยบางคนก็ยังขาดปัจจัยหรือเงินในการรักษา ผู้คนส่วนใหญ่จึงนิยมมาเข้ารับการบริบาลจากวัดเจ็นตก นอกจากปัจจัยประกอบเหล่านี้แล้ว ยังมีปัจจัยหลักที่ทำให้วัดเจ็นตกเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน เพราะตาหลวงเมฆ มีคุณูปการต่อชุมชน และประชาชนทั่วไป ทรงสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ในการก่อสร้างศาสนสถาน และสถานศึกษาในชุมชน ในที่นี่คือโรงเรียนวัด-ประจิมทิศาราม(เมฆประชาบำรุง) ด้วยบารมีของตาหลวงเมฆที่สั่งสมไว้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นแรงศรัทธาของบุคคลที่มีต่อวัด ให้ความเชื่อถือ ศรัทธา ในตัวของตาหลวงเมฆและคุณภาพของน้ำมันเอ็น นอกจากรอยยิ้ม การต้อนรับและการบริบาลที่วัดมีให้ผู้มาเยือนแล้ว วัดยังจัดบริการที่พักสำหรับผู้ป่วย และครอบครัว โดยแยกที่พักออกเป็นที่พักหญิงและที่พักชาย ซึ่งมีอาการบาดเจ็บค่อยข้างหนัก และไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา