จุดตำหนิเหรียญหล่อเจ้าสัว หลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
เมื่อเอ่ยถึงพระเครื่องหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว นักสะสมจะคิดถึงเหรียญหล่อเจ้าสัวเป็นลำดับแรก และคิดถึงพระผงยาจินดามณีเป็นลำดับถัดมา เหรียญหล่อเจ้าสัวนั้นมีราคาเช่าในสภาพสวยๆ แพงถึงหลักล้านต้นทีเดียว เพราะแค่ชื่อของเหรียญก็เป็นที่หมายปองของนักสะสมแล้ว แถมด้วยประสบการณ์จากการบูชาที่มีการกล่าวขวัญถึงว่า ผู้ใดได้บูชาเหรียญเจ้าสัว เงินทองจะเข้ามาไม่ขาดมือ ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและนักสะสมทีเดียว
สมัยที่สร้างนั้น มีชื่อเรียกเหรียญนี้ว่า เหรียญหล่อซุ้มกระจังหรือเหรียญหล่อบัวคว่ำบัวหงาย เหตุที่เป็นชื่อเหรียญเจ้าสัวนั้น เพราะตอนที่สร้างในปี พ.ศ.2477 หลวงปู่บุญได้แจกให้กับเจ้าสัวที่เป็นผู้อุปการะ วัดกลางบางแก้วในสมัยนั้น และเจ้าสัวที่ได้รับแจกไป ล้วนแต่เป็นมหาเศรษฐีในยุคนั้น และต่างก็หวงแหนในเหรียญหล่อชุดนี้ อันเป็นที่มาของคำว่าเหรียญเจ้าสัว นั่นเอง
ในการพิจารณาเหรียญหล่อโบราณ นอกจากพิจารณาพิมพ์แล้ว เนื้อหาต้องมีความเก่าตามอายุ และเป็นธรรมชาติ อยากให้ขยายดูเนื้อหามวลสารของเหรียญ จะเห็นร่องรอยที่เหลืออยู่ของการหล่อโบราณ เช่น คราบขี้เบ้าโลหะในพิมพ์ การผสมผสานเนื้อโลหะที่ไม่หลอมเป็นเนื้อเดียวกัน
และแน่นอน เหรียญหล่อโบราณทุกเหรียญจะต้องไม่เหมือนกัน เพราะน้ำทองที่ไหลเข้าไปหล่อ ย่อมไม่ติดเต็มแม่พิมพ์เหมือนเหรียญปั๊ม เนื้อโลหะที่ไม่หลอมเป็นเนื้อเดียวกันทั้งองค์พระ อาจจะเป็นเพราะจุดหลอมเหลวของเนื้อโลหะที่ไม่เสมอกันในแต่ละคราว ก็จะทิ้งร่องรอยให้ศึกษาความเก่าและความเป็นธรรมชาติ แต่แม่พิมพ์หลักย่อมเหมือนกันครับ
ในการศึกษาและพิจารณาเหรียญหล่อเจ้าสัว เนื้อทองแดงนั้น ส่วนใหญ่เนื้อหาของเหรียญลักษณะเป็นสีทองแดงเข้ม มีส่วนน้อยที่จะเป็นสีทองแดงอ่อน และจุดพิจารณาอื่นๆ คือ
1.หูเชื่อมทุกเหรียญและมีขนาดเท่ากันทุกเหรียญ
2.ปลายขอบบนเส้นซุ้มฝั่งขวาองค์พระจะลีบและเล็กกว่าฝั่งซ้ายขององค์พระ
3.พระเมาลีมีลักษณะเป็นตุ่มชัดเจน
4.หน้าผากจะบุ๋มเป็นในพิมพ์ทุกองค์
5.กลีบกนกที่ 4 นับจากด้านล่าง ปลายกลีบจะตวัดขึ้นหนีขอบ
6.พระกรรณขวาจะห่างจากพระพักตร์มากกว่าฝั่งซ้ายและเป็นเส้นค่อนข้างตรง
7.เส้นซุ้มตรงมุมขยักเส้นในข้างหูขวาองค์พระจะขาดไม่ต่อเนื่องกัน
8.ไหล่ซ้ายองค์พระจะเป็นเส้นนูนที่ขอบบน
9.แขนฝั่งซ้ายจะเป็นเส้นคมชัด
10.เม็ดบัวตรงกลางจะมีลักษณะกลม
11.คราบเบ้าอันเป็นธรรมชาติของเหรียญหล่อโบราณ
12.เนื้อโลหะเล็กๆและเม็ดบอลเล็กๆ ที่ติดตามซอกองค์พระอันเป็นธรรมชาติของการเหรียญหล่อโบราณ
ด้านขอบข้างเหรียญนั้นเมื่อส่องดูจะเห็นร่องรอยการแต่งเก่าด้วยตะไบที่เก็บความคมและความเรียบร้อยของเหรียญ ด้านหลังเหรียญเมื่อขยายดูจะเห็นร่องรอยรูพรุนเล็กๆอันเป็นธรรมชาติของเหรียญหล่อโบราณเช่นกัน และมีรอยเหล็กจารอักขระ “ตัวเฑาะว์มหาอุด” ซึ่งเป็นลายมือของหลวงปู่เพิ่ม และรอยตะไบแต่งหลังเพื่อเก็บความเรียบร้อยของเหรียญ นอกจากนี้แล้วก็ยังปรากฏว่า เหรียญหล่อเจ้าสัวบางองค์ก็ไม่มีรอยจาร และมีรอยจารของหลวงปู่บุญ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระที่รับมาตั้งแต่หลวงปู่บุญแจกในคราวแรก
เหรียญหล่อเจ้าสัวนอกจากเนื้อทองแดงแล้ว ยังมีเนื้อเงิน(มีน้อยมากไม่น่าจะเกิน 30 เหรียญ) และโลหะทองผสมแก่ทองเหลืองซึ่งออกที่วัดกัลยาณมิตรโดยท่านเจ้าคุณพระวินัยกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นแม่งานในการหล่อเหรียญหล่อเจ้าสัวนี้ได้ขออนุญาตจากหลวงปู่บุญหล่อด้วยโลหะทองผสมขึ้นเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ที่วัดกัลยาณมิตรนั่นเอง
เหรียญหล่อเจ้าสัวเนื้อโลหะทองผสมจะมีความหนาของเหรียญมากกว่าเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง นอกจากนี้ยังมีความต่างตรงที่เนื้อทองผสมนั้นจะเทหล่อแบบมีหูในตัวเป็นส่วนใหญ่ ในองค์ที่ตัดหูไปก็ไม่พบว่ามีการต่อหูเหมือนกับเนื้อเงินและเนื้อทองแดง ภายหลังจากที่ตกแต่งเก็บความเรียบร้อยของเหรียญแล้ว
ในเรื่องของพุทธคุณของเหรียญหล่อเจ้าสัวนั้น จากประสบการณ์สำหรับผู้ที่ศรัทธาและบูชาเหรียญหล่อเจ้าสัวนี้ พุทธคุณแห่งเหรียญก็จะช่วยเสริมส่งให้ชะตาชีวิตดีขึ้น เป็นเอกทางด้านโชคลาภ และทางด้านแคล้วคลาด รวมถึงชื่อรุ่นของเหรียญที่มีความเป็นมงคล จึงทำให้เหรียญหล่อเจ้าสัวนี้ติดอันดับ 1 ใน 5 เหรียญหล่อที่มีราคาแพงที่สุดของประเทศ
นอกจากเหรียญหล่อเจ้าสัวนี้แล้ว วัตถุมงคลของหลวงปู่บุญ ที่โดดเด่น เช่น พระพิมพ์สะดุ้งกลับเนื้อผงยาจินดามณี ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมถึงพระเครื่องเนื้อต่างๆ และเครื่องรางของขลัง เช่น เบี้ยแก้ เม็ดยาวาสนาจินดามณี ผ้ายันต์ ตะกรุด และเครื่องรางงาแกะ เป็นต้น ก็ล้วนแต่นิยมและมีราคาทั้งสิ้น
ขอบคุณที่มา : https://www.posttoday.com/dhamma/609183